D.I.Y ห้องโอ่ง พื้นที่สวดมนต์ ปลูกความร่มเย็นในใจ



D.I.Y ห้องสวดมนต์จากโอ่ง

    ถ้าพูดถึง “โอ่ง” สิ่งที่เรานึกแว๊บขึ้นมาจะเป็นภาชนะคู่บ้านคนไทย ที่สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในการรองน้ำไว้กินไว้ใช้ในหน้าแล้ง แต่โอ่งบ้าน ๆ นี้ยังสามารถแปลงร่างเปลี่ยนฟังก์ชันได้ หากใช้ความคิดสร้างสรรค์ปรับประยุกต์วิธีการใช้ในงานแบบอื่นๆ (Put to another use) ให้ของที่คุ้นตาทำหน้าที่ใหม่ ๆ ได้แบบที่คิดไม่ถึง เหมือนเช่นโอ่งใบนี้ที่ถูกนำมาตกแต่งใช้งานจากโอ่งเก็บน้ำธรรมดากลายมาเป็นห้องสวดมนต์ ซึ่งคุณปุ๋ย Mojang Puii ได้ไปพบเห็นจากบ้านหลังหนึ่ง ที่ตั้งอยู่หมู่ 6 บ้านวังสวัสดี ต.หนองกระโดน อ.เมือง จ.นครสวรรค์ แล้วคิดว่าเป็นไอเดียที่น่าแบ่งปัน จึงโพสต์ภาพลงใน Facebook ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม ใคร ๆ เห็นก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต้องจัด” แบบนี้ไว้ที่บ้านสักใบ



ห้องสวดมนต์สงบเย็นที่เป็นเอกลักษณ์

หลังจากเราติดต่อคุณปุ๋ยผู้เล่าเรื่อง ทำให้ทราบว่าผู้ลงมือสร้างสรรค์ห้องโอ่งที่น่ารักใบนี้ คือคนที่คุณปุ๋ยเรียกว่า “น้าวิทย์” หรือคุณประวิทย์ สนธิรักษ์ ซึ่งยินดีตอบคำถามถึงที่มาของแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนโอ่งใบนี้อย่างอารมณ์ดีว่า

“หลังจากเกษียณน้าก็ได้ไปช่วยทำงานที่วัดเป็นมรรคทายก และร่วมงานที่เกี่ยวข้องกับธรรมมะ ในทุกวันพระก็จะสวดมนต์ที่ห้องพระเป็นประจำวันละประมาณ 1 ชั่วโมง ก็อยากหาพื้นที่ส่วนตัวสงบ ๆ สำหรับนั่งสมาธิ ช่วงก่อนหน้านี้ก็ไปขายล็อตเตอรี่ตามหมู่บ้าน เจอบ้านหลังหนึ่งเอาลอตเตอรี่แปะข้างในจนเต็ม เลยได้ไอเดียในการทำห้องโอ่งขึ้นมา ส่วนตัวเคยทำงานช่างไม้ช่างปูนอยู่แล้ว จึงลงมือทำด้วยตัวเองให้เป็นพื้นที่สวดมนต์ส่วนตัวที่เงียบสงบเย็น และเป็นเอกลักษณ์”



ทำง่ายๆ เพียง 3 ขั้นตอน

ไม่เล็กนะครับ” น้าวิทย์บอกกับบ้านไอเดีย เมื่อเราบอกว่ามีผู้อ่านแสดงความคิดเห็นสังเกตว่าพื้นที่ภายในว่า ทำไมดูกว้างมาก? หรือ ไม่ใช่ละ มันกว้างเหมือนไม่ใช่โอ่งนะ? น้าวิทย์จึงพิสูจน์ด้วยการเหยิบสายวัดเดินไปวัดให้เราดูในทันทีว่า ส่วนที่กว้างที่สุดของโอ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางอยู่ที่ประมาณ 1.5 เมตรเลยทีเดียว

    สำหรับขั้นตอนการทำ น้าวิทย์เล่าว่าไม่ยาก มีเพียง 3 ขั้นตอนคือ เททรายลงไปก่อนเป็นอันดับแรกแล้วปรับให้เรียบ จากนั้นตามด้วยการเทปูนที่ผสมแล้วลงไป ทับหน้าด้วยแผ่นกระเบื้องที่มีอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายจึงมีเพียงค่าปูนและทรายเท่านั้น และใช้เวลาเพียง 3 วันก็พร้อมใช้งาน ส่วนโอ่งใบนี้เป็นโอ่งซีเมนต์เก่าที่มีอยู่แล้วไม่ต้องหาซื้อ ในส่วนของโครงสร้างโอ่งใหญ่แบบนี้มักทำชิ้นส่วนในแม่พิมพ์ที่ใช้ดินเหนียว ปูนซีเมนต์ หรืออิฐ แล้วแต่ท้องถิ่น จากนั้นนำมาฉาบด้วยดินเหนียว และปูนซีเมนต์ในชั้นนอกสุดอีก 1 ชั้น ตัวโอ่งจึงมีความแข็งแรงรองรับน้ำหนักได้ดีพอสมควร

ส่วนข้อคำถามที่ว่า “โอ่งจะกลิ้งไหม” น้าวิทย์บอกว่าไม่กลิ้งเพราะได้นำก้อนหินวางค้ำไว้รอบ ๆ และพื้นโอ่งที่มีความโค้งจะมีจุดศูนย์ถ่วง ซึ่งเป็นจุดสมดุลย์เสมือนว่าน้ำหนักของวัตถุทั้งหมดจะดึงลงสู่ฐาน เมื่อใส่ทรายเข้าไปในส่วนฐานจึงทำให้โอ่งมีความเสถียรมากขึ้นด้วย



จัดพื้นที่ภายในสวยงามเย็นสบาย

    ความสูงภายในโอ่งหลังจากเทพื้นและปูกระเบื้องเรียบร้อยแล้ว มีความสูงที่จุดสูงสุดประมาณ 120 เซนติเมตร ทำให้นั่งได้สบาย ความกว้างภายในนอกจากจะจุโต๊ะญี่ปุ่นเล็ก ๆ วางหนังสือแล้ว ยังเหลือที่มากพอจุคนนั่งได้ 4-5 คน น้าวิทย์ตั้งใจปูพื้นกระเบื้องเพิ่มความเย็น น้าวิทย์ติดตั้งหลังคาเมทัลชีทเล็ก ๆ นอกโอ่งช่วยกั้นแสงอีกชั้นทำให้ในโอ่งไม่ร้อน การวางโอ่งให้นอนลงทำให้อากาศภายนอกไหลเข้าไปได้ง่ายไม่รู้สึกอึดอัด ประกอบกับน้าวิทย์ต่อสายไฟจากช่องก็อกน้ำเดิม เพื่อให้เปิดพัดลมข้างในได้จึงมีอากาศถ่ายเทดีขึ้น สำหรับคนที่กังวลเรื่องอากาศอาจจะเจาะเพิ่มช่องทางระบายอากาศติดพัดลมดูดอากาศได้ แต่ต้องระวังโอ่งแตกร้าวด้วย





    แม้ภายในโอ่งจะกว้างพอสมควร แต่น้าวิทย์บอกว่าเวลานอนจะเหยียดขาตรง ๆ ไม่ได้ ต้องนอนแนวทแยงจึงหมดเรื่องการหันเท้าเข้าหาโต๊ะวางหนังสือสวดมนต์ เมื่อเราถามว่าน้าวิทย์จะลองทำขายไหมถ้ามีคนมาขอซื้อ น้าตอบปนเสียงหัวเราะว่า “คงยากหน่อยเพราะโอ่งหนักมาก ลูกหนึ่งมีน้ำหนักหลายร้อยกิโล (ประมาณ 450 กิโลกรัม) เคลื่อนย้ายลำบาก ต้องใช้คนหลายคนช่วยกันนำโอ่งขึ้นรถ และอาจจะแตกระหว่างการขนส่งได้ถ้าไม่ชำนาญ”

ได้ทราบแบบนี้แล้ว สงสัยว่าคนที่สนใจอาจจะต้องลองสั่งโอ่งมาลองทำกันดูเองสักตั้ง แนะนำให้เลือกโอ่งซีเมนต์ขนาดใหญ่สุด (จุน้ำประมาณ 1,700-2,000 ลิตร สนนราคาประมาณ 1,000 ต้น ๆ) แล้วนำมาพลิกแพลงใส่ไอเดียให้น่าสนุกขึ้นไปอีก
-------------------------------------------------------------------
ผลงานที่มา Mojang Puii ,คุณประวิทย์ สนธิรักษ์
ข้อมูล banidea
งบประมาณ -
แบบบ้าน  ชั้นเดี่ยว

ทางเว็บไม่ได้รับสร้างบ้านหรือจัดสวน เราเพียงแชร์ให้ดูเป็นไอเดียเท่านั้น
ใหม่กว่า เก่ากว่า